ข้อมูลทั่วไป-ประวัติ

     สำนักงานศึกษาธิการภาค 9 (เดิมศึกษาธิการภาค 3) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ
สั่ง ณ วันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 ข้อ 15 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดสถานที่
ตั้งของสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประกาศ ณ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ให้สำนักงานศึกษาธิการภาค 9 ตั้งอยู่เลขที่ 410/1 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 รับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสระแก้ว
     ต่อมามีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง สถานที่จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค
และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประกาศ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2562 ให้สำนักงานศึกษาธิการภาค 9
ตั้งอยู่เลขที่ 410/1 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา  รับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว
ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับข้าราชการ กิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานศึกษาธิการภาค 3 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานศึกษาธิการภาค ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ไปเป็นของสำนักงานศึกษาธิการภาค 9 ตามประกาศนี้
     บทบาทหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาค 9 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560
สั่ง ณ วันที่ 3 เมษายน 2560 ข้อ 5 ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 18 ภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกำหนด เพื่อปฏิบัติภารกิจ
ของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัดโดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
และหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆ และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
     1. กำหนดยุทธศาสตร์และบทบาทการพัฒนาภาคต่างๆ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ทิศทางการดำเนินงานตามข้อ 3 (1) นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ
และยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่นๆ ในพื้นที่รับผิดชอบตามศักยภาพและโอกาส
ของบุคคลและชุมชนในแต่ละพื้นที่
     2. สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนา
     3. กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ
     4. สนับสนุนการตรวจราชการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย
และยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่รับผิดชอบ
     5. ประสานการบริหารงานระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เกิดการพัฒนา
อย่างบูรณาการในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด โดยยึดการมีส่วนร่วมและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก
     6. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย